พิธีกรรมในงานศพไทย แบ่งออกเป็น 3 พิธี ได้แก่ พิธีรดน้ำศพ พิธีสวดอภิธรรม และพิธีฌาปณกิจ
พิธีรดน้ำศพ
งานศพก่อนที่จะนำศพใส่โลงเมื่อมีคนสิ้นลมหายใจแล้วจะนำศพมาทำพิธี ซึ่งพิธีที่จะทำเริ่มแรก คือ การอาบน้ำศพหรือที่เรียกกันว่า “พิธีรดน้ำศพ” ซึ่งการรดน้ำศพจะจัดพิธีหลังจากคนตายไปไม่นานนัก โดยใช้น้ำมนต์ผสมน้ำสะอาด โรยด้วยดอกไม้หอมหรืออาจะใช้น้ำอบผสมด้วย ผู้ที่มารดน้ำศพจะรดที่มือข้างหนึ่งของผู้ตายที่ยื่นออกมาและกล่าวคำไว้อาลัย[1] ถือเป็นพิธีเริ่มต้นเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ตาย มักเชิญคนสนิท คนรู้จักหรือผู้ที่เคารพนับถือไปรดน้ำศพเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ที่จากไป
เมื่อท่านไปถึงในพิธีควรจะทักทายและแสดงความเสียใจต่อเจ้าภาพจากนั้นจึงนั่งรอในที่จัดเตรียมไว้ เจ้าภาพจึงจะเชิญท่านไปรดน้ำยังบริเวณที่ตั้งศพ ท่านจึงทำความเคารพศพและเทน้ำอบที่เจ้าภาพได้จัดเตรียมไว้ลงบนฝ่ามือและอโหสิกรรมให้กับผู้ที่ล่วงลับ
พิธีสวดอภิธรรม
งานสวดอภิธรรมหรืองานสวดศพ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นสัจธรรมของชีวิตว่า โดยปรมัตถธรรมแท้จริงแล้ว ชีวิตประกอบด้วยธรรมชาติ ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นรูป คือ ร่างกาย อันประกอบด้วยธรรมชาติ ๔ อย่าง คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ (ธาตุ ๔) กับส่วนที่เป็นนาม คือ จิตเจตสิก (ขันธ์ ๕ : เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ถ้าเห็นสัจธรรมของชีวิตตามธรรมชาติด้วยปัญญาญาณ ย่อมบรรลุถึงพระนิพพาน การดับกิเลสคือการดับทุกข์ได้ ดังนั้นการสวดพระอภิธรรมในงานศพ ย่อมมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เห็นความจริงของชีวิต ตามธรรมชาติหรือธรรมดา รวมถึงระลึกถึงคุณความดีของผู้ที่ล่วงลับ และการเชิญพระมาสวดบทอภิธรรมที่มีความหมายเกี่ยวกับสัจธรรมของชีวิต ส่วนใหญ่มักจัดเป็นงานบุญ 7 วันในตอนกลางคืน
ในส่วนนี้เองที่มักมีการส่งพวงหรีดไปร่วมแสดงความไว้อาลัยแก่ผู้ที่ล่วงลับ โดยอาจเลือกพวงหรีดที่สวยงามสามารถย่อยสลายง่ายและทำจากวัสดุธรรมชาติหรือพวงหรีดผ้าที่มีการจัดเตรียมอย่างสวยงามไม่แพ้พวงหรีดดอกไม้สด รวมถึงสามารถสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ซึ่งการติดตั้งพวงหรีดไม่ควรติดตั้งเอง ควรส่งให้กับเจ้าภาพหรือผู้ที่ดูแลนำไปติดตั้ง
เมื่อเข้ามาในศาลาที่ตั้งโลงศพ ควรกราบพระก่อนด้วยเบญจางคประดิษฐ์ จากนั้นจึงจุดธูป 1 ดอกเพื่อไหว้เคารพตามความเหมาะสม เช่น
หากผู้ตายเป็นผู้สูงอายุ ให้กราบ 1 ครั้งแบบไม่แบมือ
หากผู้ตายเป็นพระภิกษุสงฆ์ ให้กราบเบญจางคประดิษฐ์
หากผู้ตายอยู่ในวัยเดียวกัน ให้ยืนคำนับหรือนั่งไหว้
หากผู้ตายเป็นผู้น้อยหรืออายุน้อยกว่า ให้ยืนหรือนั่งในท่าสงบ[2]
หลังจากที่การสวดอภิธรรมเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จะเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่จากไป ด้วยพิธีทอดผ้าบังสุกุลและถวายของจตุปัจจัยให้แก่พระสงฆ์ จากนั้นเป็นการกรวดน้ำให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ จึงจบพิธีสวดอภิธรรมในแต่ละคืน
พิธีฌาปณกิจ
นับเป็นพิธีกล่าวอำลาในครั้งสุดท้ายกับผู้ที่ล่วงลับ ในตอนเช้าของพิธีมักจะให้ญาติหรือลูกหลานช่วยกันหามโลงศพ เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้ตาย โดยการเวียนศพต้องเวียนซ้ายต่างกับการเวียนเทียนหรือแห่นาคซึ่งเป็นงานมงคลจะทำการเวียนขวาเรียกว่า ทักษิณาวรรต การเวียนศพ ๓ รอบเป็นการเวียนเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้ตาย และเป็นปริศนาธรรมเกี่ยวกับพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ในสามภพ คือ ในโลก นรก และสวรรค์
ก่อนจะทำพิธีฌาปนกิจจะมีการกล่าวชีวประวัติของผู้ล่วงลับ เพื่อระลึกถึงคุณความดีและให้ผู้มีชีวิตอยู่ตระหนักถึงสัจธรรมของชีวิต จึงทำการทอดผ้าบังสุกุล จากนั้นเจ้าภาพในงานจึงจะรับเชิญให้เริ่มพิธี โดยให้ท่านนำธูปเทียนสำหรับขอขมาศพและดอกไม้จันทน์ค่อยๆ เดินตามขึ้นเมรุเผา จากนั้นนำดอกไม้จันทน์วางที่ใต้เชิงตะกอนสำหรับจุดไฟ หรือนำดอกไม้จันทน์และธูปเทียนวางหน้าพานศพ อาจไหว้เคารพหรือกล่าวขอขมาในใจก่อนค่อยวางดอกไม้จันทน์และธูปเทียนลง แล้วจึงเดินลงบันไดอีกข้างหนึ่ง เพราะหากเดินย้อนกลับไปทางที่ขึ้นมาจะทำให้ขวางทางเดินผู้อื่นได้
เมื่อพิธีเผาศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นสามารถมาเก็บอัฐิได้แต่ถ้าเป็นชนบทจะเก็บอัฐิภายหลังการเผาแล้ว 3 วัน เนื่องจากชนบทจะใช้ฟืนเผาจึงจะต้องรอให้ไฟมอดสนิทก่อน ลูกหลานจะเก็บส่วนที่สำคัญไว้บูชา และบางส่วนอาจจะนำไปลอยอังคาร ซึ่งอาจจะเป็นแม่น้ำ หรือทะเล ทั้งนี้มีความเชื่อที่ว่าจะทำให้วิญญาณของผู้ตายมีความสงบและร่มเย็น